เมนู

ในการสะสมที่นอน มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้


บทว่า สยนํ ได้แก่เตียง. ภิกษุรูปหนึ่ง ควรมีเตียงได้อย่างมาก
2 เตียง คือเตียงหนึ่งไว้ในห้อง เตียงหนึ่งไว้ในที่พักกลางวัน. ได้เกิน
กว่านั้น ควรให้แก่ภิกษุรูปอื่น หรือแก่คณะ. จะไม่ให้ไม่ควร. ย่อมชื่อว่า
เป็นการสะสมและทำให้เสียการปฏิบัติเคร่งครัด.

ในการสะสมของหอม มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้


เมื่อภิกษุอาพาธเป็นฝี เป็นหิด และโรคผิวหนังเป็นต้น จะใช้
ของหอมก็ควร. เมื่อโรคนั้นหายแล้ว ควรให้นำของหอมเหล่านั้นมาให้
แก่ภิกษุอาพาธรูปอื่น ๆ หรือควรนำไปใช้ในกิจ มีการรมควันเรือน ด้วย
นิ้วมือ 5 นิ้วเป็นต้นที่ประตู. แต่จะเก็บไว้ด้วยประสงค์ว่า เมื่อเป็นโรค
อีกจักได้ใช้ ดังนี้ไม่ควร. ย่อมชื่อว่าเป็นการสะสมของหอมและทำให้เสีย
การปฏิบัติเคร่งครัด.
สิ่งของนอกจากที่กล่าวแล้ว พึงเห็นว่า ชื่อว่า อามิส. คือ ภิกษุ
บางรูปในพระศาสนานี้ ให้เขานำเอาภาชนะงา ข้าวสาร ถั่วเขียว ถั่ว-
ราชมาส มะพร้าว เกลือ ปลา เนื้อ เนื้อแห้ง เนยใส น้ำมัน และ
น้ำอ้อยงบเป็นต้น มาเก็บไว้ด้วยคิดว่า จักมีเพื่ออุปการะในกาลเห็นปาน
นั้น. ครั้นเข้าฤดูฝน แต่เช้าตรู่ทีเดียว เธอให้พวกสามเณรต้มข้าวต้ม ฉัน
แล้วใช้สามเณรไปด้วยสั่งว่า สามเณร เธอจงเข้าไปบ้านที่ลำบากเพราะ
น้ำโคลน ครั้นไปถึงตระกูลนั้นแล้ว บอกว่า ฉันอยู่ที่วัดแล้วจงนำนมส้ม
เป็นต้นจากตระกูลโน้นมา. แม้เมื่อภิกษุทั้งหลายถามว่า ท่านขอรับ จัก
เข้าบ้านหรือ ? ก็ตอบว่า ผู้มีอายุ เวลานี้บ้านเข้าไปลำบาก. ภิกษุเหล่านั้น

กล่าวว่า ช่างเถิดขอรับ นิมนต์ท่านอยู่เถิด พวกกระผมจักแสวงหาอาหาร
มาถวาย ดังนี้ แล้วพากันไป. ลำดับนั้น แม้สามเณรก็นำเอานมส้มเป็น
ต้นมาปรุงข้าวและกับ แล้วนำเข้าไปถวาย. เมื่อท่านกำลังฉันอาหารนั้น
อยู่นั่นแหละ พวกอุปัฏฐากยังส่งภัตตาหารไปถวาย. ท่านก็ฉันแต่ที่ชอบ ๆ
แต่นั้น. ลำดับนั้นภิกษุทั้งหลายรับบิณฑบาตมา. ท่านก็ฉันแต่ที่ชอบใจ
จนล้นคอหอย. ท่านเป็นอยู่อย่างนี้ถึง 4 เดือน. ภิกษุรูปนี้ เรียกว่า มีชีวิต
อยู่อย่างเศรษฐีหัวโล้น มิใช่มีชีวิตอยู่อย่างสมณะ. ภิกษุแบบนี้ ย่อมชื่อ
ว่าเป็นผู้สะสมอามิส.
ก็ในที่อยู่ของภิกษุ จะเก็บได้เพียงเท่านี้ คือ ข้าวสารทะนาน 1
น้ำอ้อยงบ 1 เนยใสประมาณ 4 ส่วน เพื่อประโยชน์สำหรับพวกที่เข้ามา
ผิดเวลา. ด้วยว่าพวกโจรเหล่านั้น เมื่อไม่ได้อามิสปฏิสันถารเท่านี้ พึง
ปลงแม้ชีวิต เพราะฉะนั้น ถ้าเสบียงเพียงเท่านี้ก็ไม่มี แม้จะให้นำมาเอง
เก็บไว้ก็ควร. อนึ่ง ในเวลาไม่สบาย ในที่อยู่นี้มีสิ่งใดที่เป็นกัปปิยะ
จะฉันสิ่งนั้นแม้ด้วยตนเองก็ควร. ส่วนในกัปปิยกุฎี แม้จะเก็บไว้มาก
ก็ไม่ชื่อว่าเป็นการสะสม. แต่สำหรับพระตถาคต ที่จะชื่อว่าทรงเก็บข้าว
สารทะนานหนึ่งเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือชิ้นผ้าเก่าประมาณองคุลี
ด้วยมีพระพุทธดำริว่า สิ่งนี้จักมีแก่เราในวันหรือในวันพรุ่งนี้ ดังนี้
หามีไม่.

ในการดูที่เป็นข้าศึก มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้


ที่ชื่อว่า การฟ้อนรำ ได้แก่การฟ้อนรำอย่างใดอย่างหนึ่ง. ภิกษุ
แม้เดินผ่านไปทางนั้นจะชะเง้อดูก็ไม่ควร. ก็วินิจฉัยโดยพิสดารในอธิการนี้
พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในสมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัยนั่นแหละ.